วินัย - วินัย นิยาย วินัย : Dek-D.com - Writer

    วินัย

    วินัยในชีวิตที่ทุกคน...(อะไรต่อดีอ่า)

    ผู้เข้าชมรวม

    417

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    3

    ผู้เข้าชมรวม


    417

    ความคิดเห็น


    0

    คนติดตาม


    0
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  26 มิ.ย. 51 / 15:00 น.


    ข้อมูลเบื้องต้น
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ
      ความหมายที่แท้จริงของคำว่า "วินัย"

      วินัยเป็นการจัดสรรโอกาส


      วินัยนี้มักจะเข้าใจกันในความหมายเชิงลบ คือไปเข้าใจเป็นเครื่องบังคับควบคุม ซึ่งยังไม่ถูกต้อง เรียกว่าเป็นความหมายสำหรับคนที่ยังไม่ได้พัฒนา
      ความหมายที่ต้องการของวินัยเป็นความหมายเชิงบวก กล่าวคือวินัยเป็นการจัดสรรโอกาส ทำให้ชีวิตและสังคมมีระบบระเบียบ และมีโอกาสเกิดขึ้น ทำให้ทำอะไร ได้คล่องดำเนินชีวิตได้สะดวก ดำเนินกิจการได้สะดวก ถ้าชีวิตและสังคมไม่มีระเบียบ ไม่เป็นระบบ ก็จะสูญเสียโอกาส ในการที่จะดำเนินชีวิตและทำกิจการของสังคมให้เป็นไปด้วยดี ตลอดจนทำให้การพัฒนาได้ผลดี
      ทำไมจึงต้องจัดระเบียบ

      ทำไมจึงต้องมีวินัย

      ถ้าชีวิตวุ่นวาย การเป็นอยู่ของมนุษย์สับสนหาระเบียบไม่ได้ โอกาสในการดำเนินชีวิตก็จะหายไป เช่นในที่ประชุมนี้ ถ้าเราไม่มีระเบียบเลย โต๊ะเก้าอี้ก็วางเกะกะทั่วไป คนก็เดินกันไปเดินกันมา อาตมภาพพูดนี่ก็ฟังกันไม่รู้เรื่อง สับสน แม้แต่เมื่ออยู่ในบ้านของเรา ถ้าสิ่งของตั้งวางไม่เป็นระเบียบกระจัดกระจายอยู่ตรงโน้นตรงนี้ แม้แต่จะเดินก็ยาก เดินไปก็เตะโน่น ชนนี่ กว่าจะถึงประตูก็เสียเวลาตั้งหลายนาที แต่พอเราจัดของให้เป็นระเบียบ ตกลงกันว่าตรงนี้เป็นทางเดินก็เว้นไว้เป็นช่องว่างเราเดินพรวดเดียวก็ถึงประตูทำให้สะดวกรวดเร็ว

      กิจการต่างๆ ต้องมีระเบียบหรือต้องอาศัยวินัยมาจัดสรรโอกาสทั้งนั้น ที่เห็นได้ง่ายๆ เช่น เมื่อแพทย์จะผ่าตัดศัลยแพทย์จะต้องการวินัยมาก จะต้องจัดระเบียบเครื่องมือที่ใช้ตามลำดับการทำงานอย่างเคร่งครัดทีเดียว ต้องตกลงกันไว้ก่อนว่า ขั้นตอนใดจะใช้เครื่องมือไหน และส่งเครื่องมือให้ถูกต้อง คนนี้ยืนตรงนี้ จังหวะนี้ ถึงเวลาไหนส่งเครื่องอันไหนเพราะอยู่ในช่วงของความเป็นความตาย พยาบาลที่จัดเตรียมเครื่องมือ ต้องพร้อมและต้องจัดให้ถูกลำดับทุกอย่างผิดนิดไม่ได้ เพราะงานนั้นต้องเป็นไปตามเวลาที่จำกัด ฉะนั้นในกิจการที่ยิ่งมีความสำคัญ มีความซับซ้อน มีความเป็นความตายเข้ามาเกี่ยวข้อง วินัยจะยิ่งต้องมีความเคร่งครัดแม่นยำมากยิ่งขึ้น

      ในสังคมวงกว้างออกไป ถ้าชีวิตคนไม่ปลอดภัย สังคมไม่มีความเป็นระเบียบ มีโจร มีขโมย มีการทำร้ายกัน เราจะไปไหนเวลาไหน ก็ไม่สะดวก เพราะกลัวว่าถ้าไปเวลานี้ หรือผ่านสถานที่จุดนั้นแล้ว อาจจะถูกทำร้ายได้ เมื่อคนไม่กล้าเดินทาง มีความหวาดระแวง โดยนัยนี้ วินัยจึงช่วยจัดทำให้เกิดระบบระเบียบในชีวิตและสังคมขึ้น ทำให้เกิดความคล่องตัว จะทำอะไรต่ออะไรก็ได้ผล ฉะนั้น การจัดวางวินัยจะต้องคำนึงถึงความมุ่งหมายนี้อยู่เสมอ เช่นต้องตรวจสอบว่า การจัดวางวินัยของเรามีความมุ่งหมายชัดเจนหรือไม่ ที่จะช่วยให้ชีวิตและกิจการงานเป็นไปได้ด้วยดี เกิดมีโอกาส และทำให้มั่นใจว่า เมือเราจัดระบบระเบียบเรียบร้อยดีแล้ว โอกาสในการพัฒนาชีวิตจะเกิดขึ้น ความเป็นอยู่และกิจการต่างๆ จะเป็นไปด้วยความคล่องตัว นำไปสู่จุดหมายดีงามที่ต้องการ

      ในการพัฒนามนุษย์ระยะยาว ถ้าไม่มีวินัยเป็นฐาน ก็จะทำให้เกิดความขัดข้องวุ่นวายสับสน ฉะนั้นเราจึงจัดวางวินัยเพื่อความมุ่งหมายระยะยาวในการพัฒนามนุษย์ด้วยและด้วยเหตุนี้วินัยจึงเรื่องสำคัญในสังคมประชาธิปไตยเพราะประชาธิปไตยต้องการโอกาสเหล่านี้ ในการที่จะให้มนุษย์มาสื่อมาแสดงออก เพื่อนำเอาศักยภาพของตัวเองออกมาร่วมในการสร้างสรรค์สังคมอย่างได้ผล

      สรุปว่า วินัยมีความหมายเชิงบวก คือ เป็นการจัดสรรโอกาสให้ชีวิตและสังคมดำเนินไปโดยสะดวก คล่องตัว ได้ผลมีประสิทธิภาพ และเป็นโอกาสแก่การพัฒนามนุษย์ด้วย

      ความสำคัญของวินัย อยู่ที่การฝึกคนให้มีศีล ศีลนั้นมีความสำคัญมาก เมื่อคนตั้งอยู่ในวินัยอย่างที่เรียกกันว่าเป็นคนมีวินัยแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งในสิ่งที่เรียกว่า แสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดีงาม ซึ่งมี ๗ ประการด้วยกัน ความมีวินัยหรือศีลนี้เป็นรุ่งอรุณของการศึกษา หรือแสงเงินแสงทองนั้นอย่างหนึ่ง

      พระพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อพระอาทิตย์จะอุทัย ย่อมมีแสงเงินแสงทองขึ้นมาก่อน ฉันใด ชีวิตที่ดีงามจะเกิดขึ้น โดยมีความถึงพร้อมด้วยศีลหรือความมีวินัยนี้เป็นสิ่งบ่งบอกเบื้องแรกด้วย ฉันนั้น ถ้าคนตั้งอยู่ในวินัยมีศีลแล้ว ก็มั่นใจได้ว่าชีวิตที่ดีงามจะเกิดขึ้น เท่ากับว่าพระพุทธเจ้าตรัสให้คำรับรองไว้ว่าศีลหรือความมีวินัยเป็นรุ่งอรุณของการศึกษา เป็นสัญญาณว่ามนุษย์จะมีการพัฒนาและมีชีวิตที่ดีงามต่อไป

      วิธีเสริมสร้างวินัย

      สร้างวินัยด้วยการทำให้เป็นพฤติกรรมเคยชิน

      วิธีฝึกวินัยที่ดีที่สุดอาศัยธรรมชาติของมนุษย์ คือใช้ธรรมชาติของมนุษย์มาเป็นเครื่องช่วย คือทำให้เป็นไปตามธรรมชาติ หรือสอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์นั้นเองหมายความว่ามนุษย์ที่ดำเนินชีวิตโดยทั่วไปนี้อยู่กันด้วยความเคยชิน ที่เราเป็นอยู่กันทุกวันนี้ เมื่อพบเห็นอะไรแล้วจะปฏิบัติการอะไรอย่างไร เราทำไปตามความเคยชินกันเป็นส่วนใหญ่

      ความเคยชินเกิดจากอะไร ก็เกิดตามธรรมดาของธรรมชาติหรือตามธรรม คือความเป็นไปตามเหตุปัจจัยในการดำเนินชีวิตของมนุษย์นั่นเอง มนุษย์ทำพฤติกรรมอะไรอย่างไร พอทำไปแล้วครั้งสองครั้งก็เริ่มมีแนวโน้มที่จะชินอย่างนั้น และก็จะทำอย่างนั้นซ้ำไปซ้ำมาๆ จนชิน พอชินแล้วก็ยึดมั่นแล้วก็เกิดความพึงพอใจในพฤติกรรมที่เคยชินนั้น พอชินแล้วก็เปลี่ยนแปลงแก้ไขยาก ยิ่งยึดมั่นแล้วก็ยิ่งถอนยากและปุถุชนก็จะมีเหตุผลมาปกป้องตนเองเสียด้วย ทำให้ไม่ยอมเปลี่ยน ฉันจะต้องยึดแบบนี้ ใครจะมาบอกให้ทำอย่างอื่นไม่เอา ฉะนั้นเราจึงต้องถือโอกาสใช้ความเคยชินของมนุษย์ให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเขา

      เราต้องยอมรับว่ามนุษย์ทั้งหลายส่วนใหญ่อยู่ด้วยความเคยชิน จริงอยู่มนุษย์นั้นเป็นสัตว์ที่ต้องฝึกและฝึกได้ แต่เราก็ต้องยอมรับด้วยว่าการที่จะฝึกคนนี้ต้องใช้ความสามารถและต้องมีระบบในการฝึกซึ่งต้องสอดคล้องกับธรรมชาติ บางทีก็เหน็ดเหนื่อยพอสมควร ถ้าเขาลงเคยชินอย่างไรแล้วก็แก้ยาก เรายอมรับความจริงนี้เสียก่อน เมื่อเรายอมรับความเคยชินเป็นสำคัญแล้ว เราก็ใช้ความเคยชินเป็นการฝึกขั้นแรก คือฝึกให้เป็นพฤติกรรมเคยชิน โดยถือว่าต้องสร้างวินัยให้เป็นพฤติกรรมเคยชิน

      วิธีที่ ๑ นี้ก็คือเมื่อเขาเริ่มต้นชีวิตเข้าสู่สังคมเข้าสู่ชีวิตใหม่เข้าสู่หมู่ใหม่ เราก็ถือโอกาสตอนนั้น โดยรู้ทันความจริงว่าคนเราเมื่อมีชีวิตอยู่เขาต้องมีการเคลื่อนไหวเขาจะมีการเคลื่อนไหวคือมีพฤติกรรมนั้น ในเวลาที่เจอประสบการณ์ หรือมีสถานการณ์เกิดขึ้น ซึ่งเขาจะต้องมีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างใดอย่างหนึ่ง คือเขาจะต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เคลื่อนไหวอย่างใดอย่างหนึ่งลงไปแล้ว เมื่อเขาเจอสถานการณ์อย่างนั้นอีก เขาจะมีแนวโน้มที่จะทำพฤติกรรมอย่างนั้นซ้ำอีกพอทำอย่างนั้นหลายครั้งเข้า แล้วเขาก็จะชิน และพฤติกรรมอย่างนั้นก็กลายเป็นพฤติกรรมเคยชินของเขา

      ก่อนที่จะเกิดเป็นพฤติกรรมเคยชินนั้น ถ้าพฤติกรรมที่เขาทำครั้งแรกเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี ก็เท่ากับว่าเราเสียเปรียบหรือเริ่มเสียโอกาสแล้ว แล้วก็มีหวังว่าพฤติกรรมนั้นจะกลายเป็นพฤติกรรมเคยชินของเขาต่อไป ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ทีนี้พอเคยชินแล้ว คราวนี้เราก็ลำบาก แก้ไขยากเขาก็จะมีพฤติกรรมเคยชินอย่างนั้นติดตัวไป ฉะนั้น เพื่อชิงให้เกิดพฤติกรรมที่ดีไว้ก่อน และกันพฤติกรรมที่ไม่ดีไม่ให้เกิดขึ้น เรารีบเอาพฤติกรรมที่ดีที่เราเรียกว่าวินัย คือพฤติกรรมเคยชินที่ดีเข้าไปให้เสียก่อน พอพฤติกรรมที่ดีเข้าไปเป็นตัวเลือกที่ ๑ และเขาจับเอาพฤติกรรมนั้นได้แล้ว ก็มีแนวโน้มว่าพอเจอสถานการณ์อย่างนั้นครั้งที่ ๒ เขาก็จะทำอย่างนั้น พอ ๓-๔ ครั้ง คราวนี้ลงตัวแล้วกลายเป็นพฤติกรรมเคยชินที่ดีคราวนี้ก็สบายแล้ว ฉะนั้นจึงควรใช้วิธีพื้นฐานในการสร้างวินัยซึ่งไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรมากนี้ ถ้าเราไม่ทำเราก็ต้องเสียโอกาสถึงอย่างไรมันก็ต้องเคยชินไปทางใดทางหนึ่งอยู่แล้ว เราก็ชิงให้ชินไปในทางที่ดีเสียเลย ฉะนั้นจึงเอาพฤติกรรมเคยชินมาเป็นพื้นฐาน เป็นวิธีการเบื้องต้นในการสร้างวินัย โดยการทำให้เกิดพฤติกรรมเคยชินที่ดี

      หลักการนี้ใช้ได้ดีกับเด็กๆ เพราะเขาเพิ่งเข้ามาสู่โลกยังไม่มีพฤติกรรมเคยชินอะไรทั้งนั้น เราก็เริ่มให้อันที่ดีเข้าไปเสียก่อนเลย ฉะนั้นตัวแบบจึงมาจากพ่อแม่ ถ้าพ่อแม่มีวินัยดีก็มีหวังว่าลูกจะมีวินัยดีด้วย เมื่อมีคนมาเข้าสู่ชุมชนใหม่ มาโรงเรียนใหม่ ถ้าคนที่อยู่ก่อนประพฤติกันอย่างไร คนที่มาใหม่ก็พลอยตามไป ในเวลาที่มีสถานการณ์อย่างนี้ๆ คนทำงานเก่า หรือหัวหน้าเคยทำกันอย่างไร คนที่มาเข้างานใหม่ก็จะทำตามอย่างนั้นแล้วเขาก็จะเคยชินต่อไปเขาก็จะทำอย่างนั้นมีพฤติกรรมอย่างนั้น โดยไม่ต้องคิดไม่ต้องรู้ตัว เพราะฉะนั้นถ้าหัวหน้างานเป็นคนมีปัญญา มีสติสัมปชัญญะดี ก รีบนำทางพฤติกรรมที่พึงประสงค์ในตอนแรกให้ดี พอได้ทำอย่างใดแล้วคนใหม่นั้นก็จะติด เกิดเป็นตอนแรกไม่ใช้โอกาส มัวปล่อยให้เขามีพฤติกรรมเคยชินอย่างอื่นไปแล้ว คราวนี้ก็จะแก้ไขได้ยากต้องยุ่งยากลำบากใจเรื่อยไป ใช้วินัยที่ลงตัวแล้วคือวัฒนธรรมมาช่วย

      วัฒนธรรมก็มาช่วยในเรื่องนี้ เพราะวัฒนธรรมเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่สร้างวินัยแบบพฤติกรรมเคยชิน เช่นพ่อแม่พาเด็กไปในสถานที่ที่ต้องให้บริการแก่คนจำนวนมาก พ่อแม่ไปเข้าแถวรอคิว เด็กก็ไปเข้าแถวด้วย ต่อไปครั้งที่ ๓ ก็เข้าแถวจากนั้นเด็กก็เข้าแถวรอคิวเอง โดยไม่ต้องตั้งใจฝึก ไม่ต้องไปสอนให้ปากเปียกปากแฉะ วัฒนธรรมเข้าแถวก็มีมาเองจากการถ่ายทอดตามความเคยชิน นี่คือวินัยที่กลายเป็นวิถีชีวิต

      ถ้าในหมู่คณะของเราปฏิบัติอะไรให้วินัยลงตัวเป็นวัฒนธรรมไปแล้ว คนที่เข้ามาสู่วัฒนธรรมนั้น สู่ชุมชนนั้นใหม่ก็จะเป็นไปอย่างนั้นเอง เพราะฉะนั้นสำหรับพฤติกรรมเคยชิน โดยวิธีของวัฒนธรรมนี้ ในสังคมที่เขาสร้างสรรค์ถ่ายทอดเรื่องระเบียบวินัยมาก่อน เขาก็ได้เปรียบ เพราะว่าคนรุ่นหลังเข้าสู่วินัยโดยติดพฤติกรรมเคยชินไปเอง แต่ถ้าเรายังไม่มีวัฒนธรรมอย่างนั้น เราก็ต้องอาศัยมีผู้นำที่รู้หลักการอันนี้แล้วนำไปใช้ อย่างไรก็ตาม อันนี้เป็นวิธีพื้นฐานเท่านั้น ต้องพูดถึงวิธีอื่นต่อไป

      สร้างวินัยให้ได้ผลด้วยระบบสัมพันธ์ขององค์รวม

      การฝึกวินัย(คือฝึกให้เป็นศีล)นั้น จะได้ผลดีต้องอาศัยระบบความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาบูรณาการกันด้วย คือเป็นระบบองค์รวมที่องค์ร่วมจะต้องประสานกัน หมายความว่าในการฝึกฝนพัฒนามนุษย์หรือการศึกษานี้จะต้องให้องค์ประกอบ ๓ ส่วน คือด้านพฤติกรรม ด้านจิตใจ และด้านปัญญาประสานไปด้วยกัน ทำให้เกิดองค์รวมที่สมบูรณ์ แล้วสิ่งที่ฝึกนั้นก็จะกลายเป็นชีวิตจริงของเขา ฉะนั้นเวลาเราฝึกทำอะไรอย่างหนึ่งจึงต้องดูทั้งสามด้าน คือ

      ๑. ด้านพฤติกรรม ถ้าเขามีพฤติกรรมที่ดีด้วยความเคยชินก็ดีแล้ว

      ๒. ด้านจิตใจ ถ้าเขามีความพึงพอใจ หรือมีความสุขในการทำพฤติกรรมนั้นพฤติกรรมนั้นจะมั่นคงยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นทางด้านจิตใจ จะต้องคอยดูว่าทำอย่างไรจะให้เขาตั้งอยู่ในวินัยด้วยความสุข มีความพึงพอใจ

      ๓. ด้านปัญญา ถ้าเขามีความรู้เข้าใจเหตุผล มองเห็นคุณค่า มองเห็นประโยชน์ของการกระทำหรือพฤติกรรมนั้น ความรู้ความเข้าใจนั้นก็จะมาหนุนองค์ประกอบฝ่ายจิตใจทำให้เขายิ่งมีความพึงพอใจและความสุขในการปฏิบัติตามพฤติกรรมนั้นยิ่งขึ้นไปอีก

      ทั้งด้านปัญญาคือความรู้ความเข้าใจนั้น และด้านจิตใจคือความสุขความพอใจ ต่างก็มาหนุนให้พฤติกรรมดีงามนั้นยิ่งหนักแน่นมั่นคงลงตัว

      ฉะนั้นองค์ประกอบสามส่วนนี้จึงเสริมซึ่งกันและกันพฤติกรรม สภาพจิตใจ และปัญญา สามอย่างนี้จะต้องพัฒนาด้วยกัน ถ้าทำไปทื่อๆ อาจจะกลายเป็นการบังคับ ถ้าการบังคับเกิดขึ้น จิตใจของคนไม่มีความสุข พอจิตใจของคนไม่มีความสุข เขาจะทำด้วยความจำใจ และพร้อมที่จะละเมิดแล้วต่อไปก็อาจจะเกิดปัญหา ทีนี้ถ้าไม่ทำด้วยปัญญา ต่อไปเขาเรียนรู้ไปทางอื่น เขาไม่เห็นเหตุผลในเรื่องนี้ เขาก็สงสัยทำให้เขาเกิดความลังเลที่จะทำ ฉะนั้นต้องให้ได้ทั้ง ๓ ส่วน นี่คือต้องมีทั้ง ศีล สมาธิ ปัญญา จะต้องฝึกวินัยให้ได้องค์ประกอบสัมพันธ์กันพร้อมทั้ง ๓ ด้านนี้

      สร้างวินัยโดยใช้ปัจจัยอื่นช่วยเสริม

      วินัยจะทำให้เกิดความสุข และประพฤติปฏิบัติด้วยความพึงพอใจ โดยใช้ปัจจัยอย่างอื่นมาช่วยอีกก็ได้ เช่นมีกัลยาณมิตรขอยกตัวอย่างว่า ถ้าครูอาจารย์น่ารัก ทำให้เด็กมีความอบอุ่นสบายใจ เด็กก็อยากจะเชื่อฟัง ครูอาจารย์ที่เขารัก เคารพ และศรัทธานั้น พอพูดอะไรลูกศิษย์ก็อยากทำอยู่แล้ว และเขาก็มีความสุขที่จะทำตามด้วย วินัยก็เกิดได้ง่าย เพราะฉะนั้น ศรัทธา และความรัก จึงเป็นปัจจัยสำคัญศรัทธาและความรักนี้พ่วงอยู่กับความมีกัลยาณมิตร แต่อันนี้ที่จริงเป็นองค์ประกอบที่จะมาเสริม เอามาพูดแทรกเสียก่อนเพื่อยกตัวอย่างให้เห็น

      ความเป็นกัลยาณมิตร เป็นตัวเสริมในการสร้างวินัยจากพฤติกรรมที่เคยชินได้โดยทำหน้าที่หนุนองค์ประกอบทั้ง ๓ ด้าน คือ

      - เป็นต้นแบบที่ดีของพฤติกรรม (ศีล)

      - มีความรัก ทำให้เกิดความอบอุ่น มีความเป็นกันเองพร้อมศรัทธาและความสุข (จิตใจ)

      - กัลยาณมิตร รู้เหตุรู้ผล สามารถบอกได้ว่าทำอย่างนั้นแล้วมีผลอย่างไร ทำให้เด็กเข้าใจเหตุผลและเห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำ (ปัญญา)

      สร้างวินัยด้วยแรงหนุนของสภาพจิตใจ

      อีกวิธีหนึ่งซึ่งเอาปัจจัยด้านจิตใจมานำคือการตั้งเป็นอุดมคติในจิตใจ ทำให้ใจมีความฝักใฝ่มุ่งมั่นอย่างแรง เช่น ชนชาติหนึ่งตั้งเป้าหมายใฝ่ฝันว่า ชาติเราจะต้องยิ่งใหญ่มีชื่อเสียงปรากฎไปทั่วโลกว่าเป็นชาติที่มีวินัย เพื่อให้ชาติของเรายิ่งใหญ่ ขอให้คนของเราปฏิบัติอย่างนี้ๆ ด้วยความที่มีเป้าหมายอย่างแรง เป็นอุดมคติ ใฝ่ตั้งใจจริงอย่างนี้ ก็ทำให้คนปฏิบัติตามวินัยได้ แต่วินัยแบบนี้อาจจะทำให้เลยเถิด เช่น ใช้กิเลสรุนแรง ทำให้คนมีความภูมิใจว่า แหม หมู่คณะของเรานี่ยอดเลยการใช้วิธีการนี้มักทำให้เกิดความคิดเปรียบเทียบและมักจะนำมาปลุกใจกันว่า หมู่คณะของเรารักษาวินัย มีวินัยดี เห็นไหม เทียบกับโรงเรียนอื่นโน้น โรงเรียนของเรา มีชื่อเสียง ใครๆ ก็นิยม ไปไหนก็มีเกียรติ เราก็ภาคภูมิใจตัวเองว่า โรงเรียนของเราเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียง มีเกียรติ มีวินัย ถ้าใช้วิธีเร้าอย่างนี้ ท่านเรียกว่าเร้ามานะ

      มานะในระดับต้นๆ นี้เป็นความภูมิใจ แต่ถ้าแรงไปจะกลายเป็นดูถูกดูหมิ่นคนอื่น ตลอดจนเป็นการแข่งขันแย่งชิงความเป็นใหญ่ มุ่งความเด่นความดัง ซึ่งมีภัยอันตรายอยู่ด้วยเพราะฉะนั้น ถ้าจะใช้มัน ก ใช่ได้แต่ในขั้นต้น แล้วต้องรีบเปลี่ยนไปใช้ปัจจัยตัวอื่นที่เป็นฝ่ายดี ถ้าใช้มานะตลอดไป จะก่อให้เกิดปัญหาในระหว่างมนุษย์ คือรักษากลุ่มของตัวได้ แต่ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งกับกลุ่มอื่น แล้วทำให้เกิดสภาพจิตไม่ดี คือการดูถูกดูแคลน ความทะนงตัวหยิ่งลำพองตลอดจนการคิดกำจัดคนอื่นต่อไปอีก ไม่ประกอบด้วยปัญญาที่แท้จริง บางสังคม บางประเทศ บางกลุ่มก็รักษาวินัยด้วยมานะนี้ แม้แต่ทำคุณความดีอื่นๆ ก็ด้วยมานะนี้เป็นการทำตนให้อยู่ในระบบการแข่งขันไปในตัว อย่างน้อยก็ต้องอาศัยความรู้สึกภูมิใจเข้าช่วย และเมื่อภูมิใจในกรณีอย่างนี้แล้วก็มักจะต้องพอง วิธีนี้ทางธรรมจึงไม่สนับสนุน ถ้าจะใช้ก็ต้องระวัง โดยรีบสร้างปัจจัยที่ดีมาสืบทอดต่อไปอย่างที่กล่าวแล้ว

      สร้างวินัยโดยใช้กฎเกณฑ์บังคับ

      อีกวิธีหนึ่งคือการสร้างวินัยโดยใช้กฎหมายหรือกฎเกณฑ์บังคับควบคุม โดยมีการลงโทษ วิธีนี้ก็สร้างวินัยได้แต่เป็นวิธีที่ไม่ดีและไม่ถูกต้อง ไม่เข้ากับหลักการของธรรม เป็นวิธีการที่ไม่ถูกธรรมคือไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของกฎธรรมชาติมนุษย์จะมายัดเยียดเอาศีลใส่ให้แก่กันไม่ได้ ศีลเกิดจากการฝึกให้มีขึ้นในตัวคน ฉะนั้น การกดหรือบีบบังคับนี้ ถ้าอำนาจยังอยู่ก็อยู่ได้ แต่พออำนาจที่กดบีบหมดไปเมื่อไร คนก็จะละเมิดวินัย คราวนี้ยิ่งปั่นป่วนเสียหายหมด ฉะนั้น ในสังคมที่อยู่ได้ด้วยกฎข้อบังคับ แล้วใช้อำนาจบีบบังคับกัน ถึงแม้จะมีวินัยอยู่ได้ แต่เมื่อไรอำนาจที่กดบีบนั้นหายไป สังคมนั้นก็ปั่นป่วนอีก ไม่ได้ผลอย่างแท้จริง

      อย่างไรก็ตาม การใช้กฎเกณฑ์ข้อบังคับนี้ บางครั้งได้ผลในเมื่อกฎเกณฑ์นั้นไม่บีบบังคับรุนแรงเกินไป และมีช่วงเวลายาวพอที่จะให้คนผ่านเข้าสู่ความเคยชินจนเขาไม่รู้ตัวพอกลายเป็นความเคยชินไปแล้วก็เข้าสู่กฎธรรมชาติตามวิธีแรกคือเป็นวินัยพื้นฐานที่เกิดขึ้นโดยการสร้างพฤติกรรมเคยชิน มันกลายเป็นเรื่องของความเคยชินตามธรรมชาติที่มารับทอดจากการใช้อำนาจตบีบบังคับ อันนั้นต่างหากที่ได้ผล

      การใช้กฎหมายหรือกฎเกณฑ์ข้อบังคับมาฝึกวินัยให้คนมีศีลนี้ มีวิธีที่จะทำให้ได้ผลได้ โดยต้องไม่ให้อยู่แค่เป็นการใช้อำนาจกดบีบบังคับและลงโทษ แต่ต้องให้จิตใจของคนเกิดความรู้สึกสำนึกว่าเป็นการฝึก โดยให้เขารู้เข้าใจมองเห็นเหตุผลและประโยชน์ของการปฏิบัติตามกฎข้อบังคับนั้นๆ ความรู้ความเข้าใจและจิตสำนึกในการฝึกนี้จะทำให้เขาเกิดมีความพึงพอใจหรือความเต็มใจขึ้นมาในระดับหนึ่งที่จะทำตาม และก็ทำให้ได้ผล ซึ่งก็คือทำให้เข้าสู่ระบบการศึกษาที่แท้จริง โดยมีองค์ประกอบสามส่วน คือพฤติกรรม สภาพจิตใจ และปัญญา เข้ามาประสานกัน

      วินัยในฐานะเป็นองค์ประกอบของประชาธิปไตย

      การฝึกวินัยนี้ มีความหมายอีกอย่างหนึ่งด้วย คือเราถือว่า วินัยเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของประชาธิปไตย ถ้าไม่มีวินัย ประชาธิปไตยก็ตั้งอยู่ยาก เพราะประชาธิปไตยเป็นการปกครองของประชาชน ประชาชนปกครองกันเอง ประชาชนจะปกครองกันเองได้ ประชาชนทุกคนต้องปกครองตนเองได้ คนที่ปกครองตนเองได้คือคนที่มีวินัย คนที่ไม่มีวินัยจะปกครองตนเองไม่ได้ เมื่อปกครองตนเองไม่ได้แล้วจะไปร่วมกันปกครองเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร ประชาธิปไตยก็ไปไม่รอด
      สรุป ประชาธิปไตยคือการปกครองของประชาชนที่แต่ละคนปกครองตนเองได้

      การที่จะทำให้คนปกครองตนเองได้ ต้องทำให้คนมีวินัยคือมีศีล หรือตั้งอยู่ในวินัย แต่สาเหตุของความขาดวินัยอย่างหนึ่งมันมาจากปัญหาเกี่ยวกับหลักการของประชาธิปไตยเสียเอง กล่าวคือมีองค์ประกอบอยู่อย่างหนึ่งที่สำคัญมากของประชาธิปไตยคือเสรีภาพ ทีนี้ ถ้าคนเข้าใจความหมายของเสรีภาพไม่ถูกต้อง เสรีภาพนั้นก็จะมาขัดแย้งกับวินัย เหมือนกับในบางสังคมที่มีปัญหาการขาดวินัยเกิดขึ้น เพราะคนไปยึดถือเสรีภาพในทางที่ผิดคือไม่ถึงความหมายของเสรีภาพนึกว่า เสรีภาพ คือการทำได้ตามใจชอบ เพราะฉะนั้นการตามใจตนเองได้ ทำตามใจชอบได้ ก็คือการมีเสรีภาพ แล้วบอกว่าเสรีภาพคือองค์ประกอบของประชาธิปไตย เมื่อเข้าใจ เสรีภาพอย่างนี้ วินัยก็มีไม่ได้ กลายเป็นว่า คนพวกนี้ เอาข้ออ้างจากหลักการของประชาธิปไตยมาทำลายประชาธิปไตย ฉะนั้นเมื่อคนไม่เข้าถึงสาระของประชาธิปไตยก็เกิดความขัดแย้งในตัวมันเองนี่คือการเข้าใจความหมายของเสรีภาพผิด

      เสรีภาพนั้นไม่ใช่การทำตามชอบใจ เรามักจะให้ความหมายของเสรีภาพในแง่ที่เป็นการทำได้ตามปรารถนาภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย หรือกติกาของสังคมบ้าง การทำได้ตามพอใจเท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่นบ้าง แต่นั่นยังไม่ใช่ความหมายที่เป็นสาระของประชาธิปไตย เป็นเพียงความหมายในเชิงปฏิบัติเท่านั้น

      ที่จริง เสรีภาพในฐานที่เป็นหลักการอย่างหนึ่งของประชาธิปไตย ย่อมมีความหมายที่สอดคล้องกับความมุ่งหมายของประชาธิปไตย ประชาธิปไตยนั้นเป็นระบบการปกครองอย่างหนึ่ง การปกครองทุกอย่างมีความมุ่งหมายเพื่อจัดสรรสังคมให้อยู่ดีมีสันติสุข เราเห็นว่าประชาธิปไตยเป็นระบบการปกครองที่ดีที่สุดที่จะให้บรรลุจุดหมายนี้ เราจึงตกลงกันให้มีการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยให้ประชาชนร่วมกันปกครอง โดยทุกคนมีส่วนร่วมในการปกครองนั้น และเพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการปกครอง เราจึงต้องให้ประชาชนมีเสรีภาพ เพื่อให้ประชาชนเหล่านั้นทุกๆ คนสามารถนำเอาสติปัญญาความรู้ความสามารถของเขาออกมาร่วมสร้างสรรค์สังคม ถ้าคนไม่มีเสรีภาพ สติปัญญาความรู้ความสามารถของเขาก็ถูกปิดกั้นไม่มีโอกาสออกมาร่วมสร้างสรรค์สังคม

      โดยนัยนี้ เสรีภาพที่เป็นหลักการของประชาธิปไตยจึงมีความหมายว่าเป็นการสิทธิโอกาสที่จะนำเอาศักยภาพของบุคคลแต่ละคน ออกมาช่วยเป็นส่วนร่วมในการเสริมสร้างประโยชน์สุขให้แก่สังคม เสรีภาพที่แท้จริงอยู่ที่นี่ เสรีภาพที่เข้าใจผิดก็คือ การที่แต่ละคนจะเอาแต่ผลประโยชน์เข้าตัวเอง เสรีภาพกลายเป็นมีความหมายว่าฉันจะเอาอะไรก็ต้องได้ตามที่ฉันต้องการ แต่ที่จริงนั้นเสรีภาพมีไว้เป็นองค์ประกอบของประชาธิปไตย เพื่อให้การปกครองนั้นสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่สังคมได้จริง โดยการจัดการเอื้ออำนวยโอกาสให้บุคคลแต่ละคนมาช่วยกันเสริมสร้างสังคมได้

      ถ้าบุคคลไม่มีเสรีภาพ ความคิดความเห็น สติปัญญาของเขาก็ไม่มีโอกาสที่จะมามีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคม แต่เมื่อเขามีเสรีภาพ สติปัญญาความคิดเห็นที่ดีของเขาก็ออกมาช่วยสร้างสรรค์สังคมที่ดีงามขึ้นได้ ประชาธิปไตยก็สำเร็จ แต่ประชาธิปไตยที่ไม่ถูกต้อง ก็เพี้ยนไป กลายเป็นระบบแก่งแย่งผลประโยชน์ของปัจเจกชน ที่แต่ละคนก็มองเสรีภาพในความหมายว่าฉันจะเอาอะไรก็ต้องเอาให้ได้ ถ้าเป็นอย่างนี้ประชาธิปไตยก็อยู่ไม่รอด

      ฉะนั้นจะต้องมองความหมายของเสรีภาพใหม่ว่าเสรีภาพคือการมีสิทธิโอกาสที่จะใช้ศักยาภาพของแต่ละคนในการมีส่วนร่วมที่จะสร้างสรรค์สังคม อันนี้เป็นความหมายที่แท้จริง เพราะสอดคล้องกับความมุ่งหมายของประชาธิปไตยซึ่งเป็นระบบการจัดตั้งเพื่อสังคม

      เรื่องความหมายของศัพท์เหล่านี้จะต้องทำความเข้าใจทั้งนั้น เพราะมีความสำคัญ และสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ถ้าเราเข้าใจพลาด การปลูกฝังคุณสมบัติต่างๆ ก็คลาดเคลื่อนหมด ฉะนั้นการจะปลูกฝังวินัยได้สำเร็จจะต้องสัมพันธ์สอดคล้องกับหลักการอื่นๆ ที่เป็นองค์ประกอบทั้งหลายของประชาธิปไตย ถ้าจะให้วินัยเป็นองค์ประกอบของประชาธิปไตยก็ต้องมีความหมายที่ถูกต้อง แล้วมาจับสัมพันธ์กันอย่างสอดคล้องกลมกลืน มันจึงจะประสานกันไปได้ ฉะนั้นเสรีภาพจึงเป็นคำหนึ่งที่จะต้องเข้าใจความหมายให้ถูกต้อง

      เมื่อเข้าใจความหมายของเสรีภาพถูกต้องแล้ว ก็จะเห็นว่า วินัยเป็นการจัดสรรโอกาสที่จะทำให้เสรีภาพของเราอำนวยผลเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่สังคมได้อย่างแท้จริง แล้วคนก็จะมีใจยินดีที่จะประพฤติตามวินัย ทำให้เกิดความเคารพกฎเกณฑ์กติกา คือเคารพวินัยนั่นเอง


      (ตัดตอนจาก "วินัยเรื่องที่ใหญ่กว่าที่คิด โดย พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) 
      http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=pilin&month=02-2008&date=07&group=4&gblog=25

      ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      ความคิดเห็น

      ×